เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว ที่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง แม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามหาหนทางแก้ไข ทั้งการระดมความคิดจากชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งการใช้งบประมาณภาครัฐในการสนับสนุนกลไกของรัฐบาลเกี่ยวกับชายแดนใต้ต่างๆ นานา สุดท้ายก็เป็นได้แค่การยื้อเวลาออกไปและไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
เหตุการณ์ที่ปลายด้ามขวานนี้ มีกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวปลุกระดมและสร้างกระแสมวลชน โจมตี ต่อต้าน รัฐบาลไทยมาทุกยุคทุกสมัย หนึ่งในขบวนการที่มีบทบาทอย่างสูงก็คือ องค์กรแนวร่วมเพื่อปลดปล่อยปัตตานี หรือ พูโล (Pulo) ซึ่งมีนายนูร์ อับดุลราห์มาน เป็นประธานกลุ่ม ที่เพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เมื่อไม่กี่วันก่อน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับขบวนการพูโลอีกครั้ง โดยมีข่าวออกมาจากทางพูโลว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงประธานคนใหม่อีกครั้งคือ นายกัสตูรี มะห์โกตา ได้รับเสียงโหวตให้ขึ้นมารับตำแหน่งเป็นประธานขององค์กรแทน
แหล่งข่าวจากกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า ความเข้มแข็งของพูโลคงจะถูกสั่นคลอนลงไปมาก เพราะเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าผู้ที่สนับสนุนให้นายกัสตูรี ขึ้นมาเป็นใหญ่ได้นั้น อาจจะเป็นการแทรกแซงจากรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านที่พยายามช่วยเหลือประเทศไทย ด้วยการกดดันกลุ่มพูโลให้เปิดการเจรจาอย่างเปิดเผย ซึ่งนายกัสตูรี ถือได้ว่าเป็นผู้ที่เข้าเจรจาอย่างลับๆ กับรัฐบาลไทยมาโดยตลอด
ขณะที่เสียงของประชาชนและผู้นำศาสนาในพื้นที่เอง ต่างก็พอใจกับการเจรจา ถ้าจะเกิดขึ้น และพวกเขาก็พร้อมที่จะเสนอหนทางเพื่อหาทางออกร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย ซึ่งเมื่อปลาย ต.ค. 54 ก็มีการจัดงานพบปะผู้นำศาสนาในท้องถิ่นกับตัวแทนของกองทัพภาคที่ 4 เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งผลการพูดคุยออกมาในแนวทางที่เป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็ตาม
เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบทบาทของพูโลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เริ่มจะถูกลิดรอนลงทีละน้อย และความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย และรัฐบาลอินโดนีเซีย มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยแก้ไขปัญหา ด้วยการกดดันและบีบบังคับแกนนำหัวรุนแรงของพูโล เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า แกนนำหลายคนล้วนแต่หลบหนีและลี้ภัยอยู่ในสองประเทศดังกล่าว แม้ว่าแกนนำหัวรุนแรงเหล่านี้จะยังยืนยันว่า เป้าหมายที่แท้จริงของขบวนการไม่ใช่การเจรจา ไม่ใช่นครปัตตานี หรือการปกครองแบบพิเศษใดๆ แต่หมายถึง เอกราชของประชาชาติปาตานี ก็ตาม
สถานการณ์นับจากนี้ไป คงต้องจับตามอง ว่าปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะหาทางออกกันอย่างไร แต่เชื่อเหลือเกินว่า น่าจะเป็นทางออกที่ดีและยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย ถ้ากลุ่มพูโลไม่เรียกร้องอะไรลมๆ แล้งๆ อีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น