เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เป็นสามคำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมอบให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของไทย ในการนำไปใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนต่างๆ รวมทั้งปัญหาใน 3 จชต. ก็มีความพยายามนำพระราชดำรัสนี้ไปใช้เช่นกัน
รัฐบาลไทยนับตั้งแต่สมัยของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้นมา ได้ร่างยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่อใช้แก้ไขปัญหาภาคใต้ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐรวมทั้งประชาชนทั่วไป นำไปปรับใช้กับท้องถิ่นของตน เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน แต่การแก้ปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนานอย่างปัญหา 3 จชต. ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องใช้เวลาในการปรับ และค่อยๆ แก้ไขปัญหาไป ไม่มีทางเลยที่นโยบายใด เมื่อทำลงไปแล้วจะได้ผลทันที ล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้น
ขณะที่คนไทยทั้งประเทศพยายามปรับตัว แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด เพื่อจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกับ 3 จชต. และพยายามเข้าถึงด้วยการร่วมทำกิจกรรม การเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมและประชาชนของภาคใต้อยู่นั้น กลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นนักสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดนปาตานีกลับคอยก่อกวน คอยโจมตีว่านโยบายเหล่านี้เป็นเพียงนิยาม “ผิวเผิน” ทั้งที่จริงแล้ว มันถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีต่างหาก ถ้าอยากเห็นความไม่สงบยุติลง ทุกฝ่ายต้องให้เวลากับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และร่วมมือกันไม่ใช่หรือ แล้วทำไมพวกคนเหล่านี้ถึงต้องรีบร้อนด่วนสรุปว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผิวเผินด้วยเล่า
คนเหล่านี้พยายามโจมตีทหาร ตำรวจโดย ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งคนที่ยอมเสียสละชีวิตตัวเองเพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ อย่าง “จ่าเพียร” พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว สมควรได้รับการยกย่อง แต่ไม่วายถูกผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติกล่าวหาว่าเป็นผู้หากินบนเลือดเนื้อ และชีวิตของชาวมลายู เป็นคำกล่าวอ้างที่ค่อนข้างจะเห็นแก่ตัวเกินไป จ่าเพียร ต้องทำหน้าที่ในบทบาทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แล้วการที่จ่าเพียรคอยต่อสู้กับผู้ไม่หวังดีต่อประชาชนจนสังหารกลุ่มคนเหล่านั้นไปหลายต่อหลายคน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องกระนั้นหรือ เป็นการตีความเข้าข้างตัวเองอย่างเห็นแก่ตัวเพื่อหวังผลทางด้านการจูงใจมวลชนเพียงเท่านั้น หาคุณค่าอะไรไม่ได้เลยในคำพูดที่ไปกล่าวโทษบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วแบบนี้
คำกล่าวที่ว่า “ชาวมลายูนั้นสามารถพูดได้ถึง 4 ภาษา จึงเป็นผู้ที่สมควรได้รับการพัฒนาก่อน” เป็นตรรกะที่แปลกมาก การที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่งจะได้รับการพัฒนาก่อนหรือหลังนั้น เขาวัดกันจากทักษะ “การใช้ภาษา” อย่างนั้นหรือ จริงอยู่ว่าชาวมลายูสามารถพูดได้หลายภาษา แต่ไม่ใช่เหตุผลที่ควรจะยกมาอ้างเลยว่าควรได้รับการพัฒนาก่อนหรือหลังได้ แม้จะได้รับการพัฒนาที่ช้าไปบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีรัฐบาลใดไม่เหลียวแลเลย ทุกรัฐบาลต่างบรรจุนโยบายภาคใต้เข้าไปในนโยบายการบริหารประเทศทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องใช้เวลาหน่อย ต้องอดทนกันหน่อย
ลองย้อนกลับไปคิดให้ดีๆ เถอะ ว่าที่ภาคใต้พัฒนาได้ช้านั้น เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลไทย หรือเป็นเพราะพวกคนหัวรุนแรงที่คอยก่อกวนไม่หยุดหย่อนเหล่านี้กันแน่ บางทีเมื่อได้รับคำตอบแล้ว อาจจะทำให้คนที่กำลังหลงผิดได้เข้าใจอะไรมากขึ้น และหันกลับมาช่วยกันพัฒนา 3 จชต. ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง ดินแดนระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่มีเขตแดนระหว่างกันอีกต่อไป แรงงานแต่ละประเทศสามารถโยกย้ายได้อย่างอิสระเสรี แล้วจะมาต่อสู้เพื่อแย่งดินแดนในประวัติศาสตร์กันอีกทำไมเล่า พวกท่านทั้งหลายเอ๋ย.