วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความฝันอันเลื่อนลอยของปาตานีกับบทบาทโอไอซี

โดย “มองหลากมุม”
                “ปาตานี” เป็นคำที่กลุ่มก่อความไม่สงบมักนำมาใช้เพื่อสื่อถึงการแบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐอิสระ และแม้ว่ากลุ่มคนดังกล่าวจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในสังคมมุสลิมส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคใต้ของไทย แต่สร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียให้กับมุสลิมไทยในพื้นที่มิใช่น้อย ตั้งแต่เหตุการณ์ตากใบและกรือเซะ ปี47 จนถึงเหตุการณ์ระเบิดที่ จ.สงขลา และ จ.ยะลา เมื่อ 31 มี.ค.55 และนั้นคือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปี 48 ในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะทยอยยกเลิกไปแล้วในบางพื้นที่ก็ตาม
                หากมองที่ขบวนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนยังคงมีหลากหลายกลุ่มเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย มีวิธีการเคลื่อนไหวต่างกันเช่น การเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์รุนแรงในไทยเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศของกลุ่ม BRN ขณะที่กลุ่ม PULO มีความถนัดในการใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข่าวสาร มุ่งโจมตีรัฐบาลว่ากดขี่ข่มเหงพี่น้องมุสลิมเพื่อขอบริจาคจากคนมุสลิมและองค์กรมุสลิมระหว่างประเทศและอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนมุสลิมเพื่อหวังให้องค์กรต่างประเทศต่าง ๆ เข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการแบ่งแยกดินแดน แต่หารู้ไม่ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวกลับยิ่งประจานตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อเหตุโดยไม่เลือกเป้าหมายทำให้ผู้บริสุทธิ์ชาวมุสลิมบาดเจ็บล้มตายมากขึ้น และอยู่ในสภาวะที่แกนนำไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้ชาวมุสลิมส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าสามารถช่วยลดเหตุรุนแรงได้จากต้นต่อ(ผู้ก่อเหตุ) และมีแต่ฝ่ายโจรเท่านั้นที่เดือดร้อนและต้องการให้ยกเลิก
                ภายหลังเหตุระเบิดที่ จ.ยะลา และ จ.สงขลา เมื่อ 31 มี.ค.55 ปรากฏว่ามีองค์กรมุสลิมทั้งในและต่างประเทศร่วมกันประณามการก่อเหตุของขบวนการก่อความไม่สงบ อาทิ สหประชาชาติ องค์การนิรโทษกรรมสากล องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และนายสะมะแอ ฮารี ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เผยว่ากลุ่มก่อเหตุมักอ้างว่าทำเพื่อชาวมลายู แต่สิ่งที่พวกเขาทำไม่ถูกหลักศาสนาทำให้ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ต้องรับเคราะห์และเสียชีวิต
                การเดินทางเยือนไทยของผู้แทนระดับสูงขององค์กรความร่วมมืออิสลามช่วง 7-13 พ.ค.55 ตามคำเชิญของ รมว.กต.ไทยแสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างทางสิทธิเสรีในการรับทราบข้อเท็จจริงจากสถานการณ์ภาคใต้ของไทย โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทน OIC พบปะชุมชุมและกลุ่มบัณฑิตอาสาในพื้นที่ จชต. มีการชี้แจงนโยบายแก้ไขปัญหาครอบคลุมตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งเอกอัครราชทูตซาเยด คัสเซม เอลมาสรี ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการ OIC กล่าวรู้สึกยินดีกับการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น นับตั้งแต่การเยือนเมื่อปี 50 โดยผู้แทน OIC  รับทราบการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินบางพื้นที่ใน จชต.และขอให้ไทยพิจารณายกเลิกในพื้นที่อื่นต่อไป ซึ่งฝ่ายไทยแสดงความพร้อมจะยกเลิก หากสถานการณ์ในพื้นที่อำนวย ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือระหว่างกันอย่างดี
                นักวิเคราะห์บางท่านระบุว่า OIC พยายามเข้ามามีบทบาทต่อปัญหาความรุนแรงจากความพยายามของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยผลักดันให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนรวมตัวกันในชื่อ “สภาประชาชนปาตานี”  United Patani People Concil (UPPC) เพื่อหาความชอบธรรมให้กับคนในพื้นที่ 3 จชต. คำถามคือ? จะหาความชอบธรรมให้กับผู้ใดในเมื่อคนในพื้นที่ จชต.ส่วนใหญ่สนใจปากท้องและการใช้ชีวิตอย่างสันติสุข และไม่เคยแม้แต่จะคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด อีกทั้ง OIC ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐที่จะมาเป็นกลางในการเจรจาใดๆได้ มิหน้ำซ้ำยังได้ย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทย-ไม่แทรกแซงไทย-ประณามกลุ่มก่อเหตุไม่สงบ”  ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยยืนยันชัดเจนว่าจะไม่มีการเจรจากับโจรเพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และอาจเปิดช่องให้ต่อรองแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”  ดังนั้นแล้วความหวังของคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ จชต.ที่จะแบ่งแยกดินแดนคงเป็นเพียงความฝันอันเลื่อนลอยในประเทศไทยที่เปิดเสรีให้กับประชาชนคนไทยทุกคน